คนแตกตื่น! เครื่องบินวน 6 รอบเหนือฟ้าไทย ปล่อยควันขาวปริศนา กัปตันเฉลยแล้วทำอะไร?

แตกตื่น! เครื่องบินปล่อยควันขาวเหนือสมุทรสงคราม ชาวบ้านแห่ถ่ายคลิป ลือระบบขัดข้อง ก่อนลงจอดสุวรรณภูมิ

จากกรณีที่ เมื่อประมาณ 13.00 น. วันที่ 4พฤษภาคม 2568 ชาวบ้านใน จ.สมุทรสงครามได้เห็นเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่บินวนอยู่เหนือน่าน จ.สมุทรสงคราม หลายรอบ โดยบริเวณปีกทั้ง 2 ข้าง มีการปล่อยควันสีขาวออกมาทั้ง 2 ข้าง

โดยเพจหน่วยกู้ภัยมูลนิธิสรรพราเชนทร์สมุทรสงคราม ได้โพสต์ข้อความ “เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ ลักษณะมี ควันไอพ่นสีขาวออกจากปีกเครื่องทั้ง 2 ข้าง บินวนรอบพื้นที่เขตจังหวัดสมุทรสงคราม จำนวนหลายรอบ ยังไม่ทราบสาเหตุ ที่แน่ชัด” ทำให้มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นและส่งคลิปเหตุการณ์มาเป็นจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวจึงลงพื้นที่ไปพบ นายศรัญญู ปานทอง หัวหน้าชุดปฏิบัติการกู้ภัยมูลนิธิสรรพราเชนทร์ ซึ่งเป็นคนเห็นเหตุการณ์และโพสต์คลิปดังกล่าว เล่าว่า ขณะที่กำลังนั่งปฏิบัติหน้าที่ในหน่วย ได้ยินเสียงเครื่องบินดังนานผิดปกติ ประกอบกับมีประชาชนแจ้งเข้ามาหลายสาย จึงออกมาดูก็พบว่ามีเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่บินวนอยู่หลายรอบ 5 – 6 รอบ ปีกทั้ง 2 ข้าง มีควันสีขาวปล่อยออกมาทั้ง 2 ข้าง ล้อหน้ากางออก จึงแจ้งเพจกู้ภัยให้ลงแจ้งประชาชนให้รับทราบ

หลังจากลงไปไม่นานก็มีประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก ซึ่งบางรายก็บอกว่าระบบล้อหน้ามีปัญหาไม่สามารถเก็บได้ จึงจำเป็นต้องทิ้งน้ำมัน เพื่อร่อนลงจอดสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งล่าสุดทราบว่าลงจอดที่สนามบินเรียบร้อยแล้ว

ในเวลาต่อมา เพจเฟซบุ๊ก กัปตันไฟซอล บิน กิน เที่ยว Captain Faisal ได้ให้ข้อมูลถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ระบุว่า “ตอนนี้กำลังแชร์กันเยอะ และถามกันมาเยอะครับว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ก่อนไปต่อเที่ยวบินนี้กลับมาลงสุวรรณภูมิปลอดภัยเรียบร้อยแล้วครับ เกิดอะไรขึ้นนี่ยังไม่ทราบครับแต่ตามภาพนี้คือการทิ้งน้ำมัน Fuel dumping หรือ Fuel Jettison”

น้ำหนักเครื่องบินกับการขึ้น-ลงจอด: ทำไมบางครั้งต้อง “ทิ้งน้ำมัน” ก่อนลงสนามบิน

ปกติแล้ว เครื่องบินโดยสารจะมีข้อจำกัดสำคัญด้านน้ำหนักที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและโครงสร้างเครื่องบิน โดยจะมีตัวเลขสำคัญ 2 ค่า ได้แก่

.น้ำหนักสูงสุดขณะขึ้นบิน (Maximum Takeoff Weight: MTOW)

.น้ำหนักสูงสุดขณะลงจอด (Maximum Landing Weight: MLDW)

ตัวอย่างเช่น เครื่องบินลำหนึ่งมี MTOW ที่ 330 ตัน และ MLDW ที่ 240 ตัน ซึ่งหมายความว่าเครื่องบินสามารถทะยานขึ้นจากพื้นได้เมื่อมีน้ำหนักไม่เกิน 330 ตัน และสามารถลงจอดได้อย่างปลอดภัยเมื่อมีน้ำหนักไม่เกิน 240 ตัน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายต่อโครงสร้างของเครื่อง

โดยทั่วไป หากเครื่องบินเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยุโรปซึ่งใช้เวลาราว 12 ชั่วโมง น้ำมันที่ใช้ระหว่างบินจะอยู่ประมาณ 100 ตัน เมื่อบินถึงปลายทาง น้ำหนักเครื่องบินจะลดลงเหลือประมาณ 230 ตัน ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถลงจอดได้ตามปกติ

แต่ถ้าเครื่องบินเพิ่งขึ้นบินไปไม่นานแล้วเกิดเหตุฉุกเฉินต้องกลับมาลงจอด น้ำหนักจะยังคงสูงเกินกว่าค่ากำหนด MLDW เช่น อาจมีน้ำหนักถึง 300 ตันขึ้นไป ซึ่งเกินจากที่โครงสร้างเครื่องบินรองรับได้ขณะลงจอด ดังนั้น นักบินอาจจำเป็นต้องดำเนินการที่เรียกว่า “ทิ้งน้ำมัน” (Fuel Dumping) เพื่อให้เครื่องบินเบาขึ้น ก่อนกลับมาลงจอดอย่างปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ในบางกรณี ไม่สามารถรอทิ้งน้ำมันได้ เช่น

.ผู้โดยสารมีอาการป่วยหนักหรืออันตรายถึงชีวิต

.เครื่องยนต์เกิดขัดข้องรุนแรง เช่น ดับไปสองเครื่อง

.เกิดควันหรือไฟไหม้

.เครื่องสั่นผิดปกติอย่างรุนแรง

.ระบบแสดงสัญญาณ “Land ASAP” (ลงด่วนที่สุด)

ในกรณีเหล่านี้ นักบินอาจต้องตัดสินใจ “ลงจอดทันทีแม้น้ำหนักเกิน” (Overweight Landing) เพื่อรักษาความปลอดภัยของชีวิตผู้โดยสารและลูกเรือไว้ก่อน ความเสียหายที่อาจเกิดกับเครื่องบินนั้นสามารถตรวจสอบและซ่อมแซมภายหลังได้ แต่ชีวิตคนไม่สามารถทดแทนได้

น้ำหนักเครื่องบินเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความปลอดภัยขณะลงจอด โดยมีการออกแบบให้สามารถปล่อยน้ำมันออกเพื่อให้น้ำหนักลดลงในกรณีฉุกเฉิน แต่หากมีเหตุจำเป็นเฉียบพลัน นักบินมีสิทธิ์ตัดสินใจนำเครื่องลงจอดทันที แม้น้ำหนักจะเกินขีดจำกัด เพื่อปกป้องชีวิตเป็นอันดับแรก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *